top of page

Lesson : 02

คนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก : เราควรภูมิใจงั้นหรือ ?

    อาจจะฟังดูเหมือนประชดเหยียดหยามประชาชนคนไทยกันซักหน่อย แต่วันนี้เอาความจริงใกล้ๆตัวเด็กวัยรุ่นถึงคนวัยกลางคนที่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงมาให้ดูกันครับ

    องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้มีการรวบรวมข้อมูล Global Status Report on Road Safety ขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนจากทุกประเทศทั่วโลก

"รู้หรือไม่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก"

Untitled2.jpg

    ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิดหรอก อันดับ 2 ของโลกจริงๆ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีอุบัติเหตุจราจรมากมายนักในบ้านเรา

    เรามาดูกันดีกว่า ว่า 5 อันดับแรกมีประเทศใดบ้าง

อันดับ 1 : Libya อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 73.4 คน/แสนประชากร

อันดับ 2 : Thailand อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 36.2 คน/แสนประชากร

อันดับ 3 : Malawi อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 35.0 คน/แสนประชากร

อันดับ 4 : Liberia อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 33.7 คน/แสนประชากร

อันดับ 5 : Congo อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 33.2 คน/แสนประชากร

    ซึ่งประเทศไทยเรานั้น จากข้อมูลปี 2012 มีรายงานการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 14059 ราย (ชาย 79%, หญิง 21%) ซึ่งมูลค่าความเสียหายนั้นอาจส่งผลกระทบทำให้ GDP ของประเทศลดลง 3% เลยทีเดียว

    โดยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของเมืองไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยหลักๆเกิดจากรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมๆกันประมาณ 73% และเราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไข

    เอาละครับ มาดูกันว่า เสาหลักของการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนมันประกอบด้วยอะไรบ้าง

"5 Pillars of Road Safety : เสาหลัก 5 ประการของถนนปลอดภัย"

    เป็น Road map ของ WHO ในปี 2011-2020 เพื่อให้เกิดความปลอดถัยและลดอัตราการตายบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด มาดูกันว่า ประเทศไทย ของเรานั้น สอบผ่านกันกี่ข้อครับ

1. Safe Vehicle : บ้านเรามียานพาหนะที่ปลอดภัย ถูกสร้างมาได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้วหรือยัง? หรือยังเป็นสามล้อเครื่องหรือจักรยานยนต์แต่งที่เรียกกันว่า"แว้น" กันอยู่ และ 80% ของรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

2. Infrastructures : บ้านเรามีถนนที่ได้มาตรฐานหรือไม่ มีไหล่ทางที่เพียงพอ มีการเอียงองศารับโค้ง และมีความเรียบหรือยังเป็นถนนบนดาวอังคารอยู่

3. Road Safety Management : เรามีการบังคับใช้กฎจราจรกันอย่างเคร่งครัดหรือไม่ รวมไปถึงการคารเข็มขัดนิรภัย และการสวมหมวกกันน๊อคนะครับ

ซึ่งเข็มขัดนิรภัยเนี่ย เพิ่มอัตรารอดชีวิตถึง 50-75% ทั้งที่นั่งตอนหน้าและตอนหลังนะครับ

ในเรื่องของความเร็วในการขับรถ หากขับรถยนต์ด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. ชนคนเดินถนน จะมีโอกาสเสียชีวิต 20% และหากเพิ่มความเร็วรถยนต์เป็น 80 กม./ชม. ชนกับคนเดินถนน จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงถึง 60%

และการสวมหมวกนิรภัย สามารถลดอัตราการตายได้ 40% แถมยังลดอัตราการบาดเจ็บทางสมองที่รุนแรงได้ถึง 70%

4. Road User Behavior : พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน ข้อนี้อาจไม่ต้องพูดมาก มีคดีออก social media ออกมาแทบทุกวัน ทั้งขับเร็ว ผิดกฎจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกกันน๊อค

5. Post-Crash Care : การดูแลผู้ป่วยหลังเกิดอุบัติเหตุในห้วงก่อนถึงโรงพยาบาล หรือ Pre-Hospital Trauma Life Support เป็นสิ่งที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำลังพัฒนาและเผยแพร่ความรู้และการจัดการให้กับเจ้าหน้าที่ EMT, Paramedic พยาบาล รวมไปถึงแพทย์ ให้มีความรู้ความสามารถเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีการจัดอบรมตามศูนย์ฝึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และที่กำลังจะเปิดใหม่คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ

จะเห็นว่า การลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกัน ตั้งแต่ขับรถออกจากบ้านตอนเช้า คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน๊อค เคารพกฎจราจร และไม่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนดครับ และสุดท้ายนี้ ขอฝาก Global Status Report on Road Safety ของทาง WHO ซึ่งจัดทำมาในรูปแบบของภาษาไทยให้เราได้อ่านเป็นข้อมูลกันครับ (แหม่ .. ประเทศอันดับ 2 ขนาดนี้จะไม่มีภาษาไทยได้ไง)

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากองค์การอนามัยโลกครับ

WHO.jpg

พี่ป๊อป

นพ.ภาณุ ธีรตกุลพิศาล

July 24, 2017

bottom of page